ประวัติโรงเรียน


 

ประวัติโรงเรียน 'สงวนหญิง'

                               

20140001_1405170995228.jpg 37933987_2140226479340764_5367865648552607744_n.jpg
พระยาพิศาลสารเกษตร คุณหญิงเสงี่ยม พิศาลสารเกษตร

                                                                          
ที่มาของชื่อ โรงเรียนสงวนหญิง

      โรงเรียนสงวนหญิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ บริเวณวัดพระเจดีย์ยอดเหล็ก (ร้าง) โดยพระยาพิศาลสารเกษตร (พร พิมพสุต) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ซึ่งมีความประสงค์จะแยกการศึกษาของนักเรียนสตรีไว้ต่างหาก ซึ่งแต่เดิมจังหวัดสุพรรณบุรี มีโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัยเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียว ท่านจึงได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัวพร้อมทั้งขอบริจาคจากเจ้านาย ข้าราชการ คหบดี ประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ดังปรากฏพระนามและนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนสงวนหญิง ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และจารึกพระนามแลนามผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี “สงวนหญิง” ดังนี้ “ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ รายละ ๒๐๐ บาท รวม ๔๐๐ บาท อำมาตย์เอก พระยาพิศาลสารเกษตร และคุณหญิงพิศาลสารเกษตร ๑๓๓ บาท นายพอน สอิ้งทอง ๑๒๐ บาท นายหุ่ย แซ่เฮง นายเจี่ยกหรือเตี้ย รายละ ๑๐๐ บาท .... รวมทั้งสิ้น เป็นเงิน ๑๔,๙๘๔ บาท ๗๔ สตางค์” ส่วนการตั้งชื่อโรงเรียนสงวนหญิงนั้น ปรากฏข้อความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๗ หน้า ๒๖๘๕ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๗๓ เรื่องสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี “สงวนหญิง”ว่า “...โรงเรียนหลังนี้กระทรวงธรรมการให้นามว่า “สงวนหญิง” และได้จัดการ และได้จัดการทำบุญฉลอง เปิดการสอนแล้ว แต่วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓”

     ต่อมาเมื่อมีนักเรียนเพิ่มขึ้น และสถานที่ตั้งเดิมคับแคบ ใน พ.ศ.๒๕๐๔ นายพัฒน์ บุณยรัตนพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้ย้ายโรงเรียนสงวนหญิงมายังที่ตั้งปัจจุบัน เลขที่ ๑๓๔ ถนนประชาธิปไตย ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๗๐ ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของวัดเก่า คือวัดโรงม้า (ร้าง)

     การก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ ดำเนินการในสมัยที่ นางสาวประภาส ธรรมทฤษฏี เป็นครูใหญ่ การก่อสร้างและตรวจรับงานแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๔ จึงได้ย้ายนักเรียนขึ้นตึกเรียนเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๔ และได้ประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี ปัจจุบัน โรงเรียนสงวนหญิงได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา ๘๘ ปี และมีผู้บริหารจำนวน ๑๕ ท่าน คือ ๑. นางสาวเจริญ บุณยสิงห์ ๒. ขุนบุญลือศึกษากร ๓. นางสาวนิลุบล ถนัดหัตถกรรม ๔. นางปราณี แก้วดุสิต ๕. นางสาวทองสุก สมิตินันทน์ ๖. นางลออ วิสิฐพันธุ์ ๗. นางสาวประภาส ธรรมทฤษฎี ๘. นางสุรณี สนั่นเมือง ๙. นางนลินี วันไชย ๑๐.นายอดุลย์ สังฆสุวรรณ ๑๑.นายเชิดศักดิ์ ศุภโสภณ ๑๒.นายเผด็จ โพธิ์อ้น ๑๓.นายประชอบ หลีนุกูล ๑๔.ดร.นิติกรณ์ ฉันท์วงศ์ชนะ ๑๕.นายตรัยพงษ์ เข็มเพ็ชร (ปัจจุบัน) ทั้งนี้โรงเรียนสงวนหญิงเป็นโรงเรียนที่ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาการ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่สะอาดร่มรื่นภายในโรงเรียน ตลอดจนความประพฤติ ความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ตามอัตลักษณ์ “สุภาพ เรียบร้อย” และในปีการศึกษา ๒๕๕๙ นี้ โรงเรียนสงวนหญิงได้รับการประเมินให้เป็นสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุด ที่ผู้บริหาร ครู บุคลากรทุกฝ่ายและนักเรียนทุกคนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

 

5.jpg

4.jpg

3.jpg

ประวัติโรงเรียนสงวนหญิง

     โรงเรียนสตรีสุพรรณบุรี (สงวนหญิง) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ โดยแยกจากโรงเรียนประจำจังหวัดกรรณสูตศึกษาลัย เดิมทีเดียวการศึกษาของจังหวัดสุพรรณบุรีจัดแบบสหศึกษาและมีโรงเรียนประจำจังหวัดเพียงแห่งเดียว ต่อมาพระยาพิศาลสารเกษตร (พร พิมพสุต) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นสมควรจะได้แยกนักเรียนสตรีไว้ต่างหาก ไม่ปะปนกับนักเรียนชาย เพื่อเป็นการขยายการศึกษาแก่สตรีในจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้สร้างโดยสละทรัพย์ส่วนตัวบ้าง เรี่ยไรจากพ่อค้า คหบดี และประชาชนบ้าง การก่อสร้างเริ่มขึ้นที่วัดเจดีย์ยอดเหล็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลากลางเก่าใกล้ตลาดจังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน ๖๕ ตารางวา ในปีแรกที่แยกมามีชั้นเรียนสูงสุดเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ และยังเป็นโรงเรียนสหศึกษาอยู่ แต่มีนักเรียนชายเรียนร่วมตั้งแต่ชั้นเตรียมจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เท่านั้น ในระดับชั้นมัธยมมีเฉพาะนักเรียนหญิงและได้ขยายชั้นทุกปีจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ นับแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า ๘๐ ปี ปัจจุบันระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รับนักเรียนหญิงล้วน ยกเว้น นักเรียนโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) และโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (Smart Class) เป็นสหศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งการเรียนการสอนได้แก่ ห้องเรียนปกติ โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) และ โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) เป็นสหศึกษา

     ปัจจุบันโรงเรียนสงวนหญิง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๔ ถนนประชาธิปไตย ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีอันเป็นที่ตั้งของวัดโรงม้า (ร้าง) ในเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๓ งาน ๗๐ ตารางวา เนื่องจากสถานที่ดั้งเดิมคับแคบ และอยู่ใกล้ตลาดไม่สามารถจะปรับปรุงขยายโรงเรียนได้ จึงได้ย้ายมาอยู่สถานที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ โดยมีการขยายชั้นเรียนสร้างอาคารเรียนเพิ่มเป็น ๑๑ อาคาร ทั้งนี้โรงเรียนสงวนหญิงเป็นโรงเรียนที่ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาการบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่งดงามร่มรื่นภายในโรงเรียน ตลอดจนความประพฤติความมีระเบียบวินัยของนักเรียน

 

 

1.jpg 2.jpg
3.jpg 4.jpg
5.jpg 6.jpg
7.jpg 9.jpg
9.jpg 10.jpg
11.jpg  

 

พระพุทธรูปประจำโรงเรียน     

    พระพุทธโลกนารถมหาคณิสสร ประวัติความเป็นมา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙

13120697_1064149990312023_390895573_o.jpg

 

ตราประจำโรงเรียน   

     ตราประจำโรงเรียนสงวนหญิง ประกอบด้วย

          ๑.องค์พระเจดีย์ยอดเหล็ก พร้อมรัศมี หมายถึง สถานที่ตั้งเดิมของโรงเรียน

          ๒.ชื่อย่อโรงเรียน 'ส.ญ.' อยู่ในโล่ หมายถึง คุณงามความดี

          ๓.คติพจน์ของโรงเรียน คือ สุวิชาโน ธมฺมํจเร สุจริตฺตํ ภวํโหติ

blue logo.jpg

 

คติพจน์ของโรงเรียน

          สุวิชาโน ธมฺมํจเร สุจริตฺตํ ภวํโหติ

 

ปรัชญาของโรงเรียน

          สร้างคน สร้างสังคม เทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 

ปณิธานโรงเรียน

         เป็นกุลสตรี มีความรู้ คู่คุณธรรม เลิศล้ำศิลปะ ดนตรี และกีฬา

 

สีประจำโรงเรียน คือ น้ำเงิน-ขาว

          สีน้ำเงิน หมายถึง ความเข้มแข็ง

          สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์

 

ดอกไม้ประจำโรงเรียน

         ดอกลดาวัลย์ เป็นดอกไม้สีขาว กลิ่นหอม เปรียบเสมือนคุณความดีของสถาบัน คือ โรงเรียนสงวนหญิง ที่สามารถสร้างสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคมมาโดยตลอด

image.jpg

อ้างอิงรูปภาพจาก : https://www.livingpop.com/vertical-gardens-idea/