ประวัติรำวงมาตรฐาน

                 เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ศ21101     วิชาศิลปะ 1      ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1

                                   หน่วยการเรียนรู้ที่  1   นาฏศิลป์ถิ่นไทยงาม         เรื่อง  รำวงมาตรฐาน
 
....................................................................................................................................

 

ประวัติรำวงมาตรฐาน

                รำวงมาตรฐานวิวัฒนาการมาจากการรำของชาวบ้านที่รำกันเป็นคู่  ล้อมเป็นวงกลมประกอบเสียงโทน หรือ
   โทนชาตรี  ซึ่งตีเป็นเสียง “ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน โทน” เรียกว่า “รำโทน” เป็นการรำที่ไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผนแน่นอน
   จะรำด้วยท่าทางอย่างไรก็ได้  มีบทเพลงรำโทนที่เป็นที่แพร่หลายมากมาย  เช่น  เพลงหล่อจริงนะดารา  เพลงช่อมาลี
   เพลงยวนยาเหล  เพลงตามองตา  เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด  เป็นต้น

                เมื่อการแสดงรำโทนเป็นที่นิยม  แสดงกันอย่างแพร่หลาย  จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงมอบหมายให้
   กรมศิลปากรปรับปรุงการแสดงรำโทนให้เป็นแบบแผนทั้งเนื้อร้อง  ดนตรีและท่ารำ และเรียกชื่อใหม่ว่า  รำวงมาตรฐาน”
  
ซึ่งนิยมนำไปแสดงในโอกาสต่าง ๆ เช่น  งานแสดงศิลปวัฒนธรรม  งานรื่นเริง เป็นต้น รำวงมาตรฐานมีทั้งหมด  10 เพลง 

   ดังนี้

                1. เพลงงามแสงเดือน                         (ท่ารำ  สอดสร้อยมาลา)                                    

                2. เพลงชาวไทย                               (ท่ารำ  ชักแป้งผัดหน้า)     

                3. เพลงรำซิมารำ                               (ท่ารำ  รำส่าย)     

                4. เพลงคืนเดือนหงาย                         (ท่ารำ  สอดสร้อยมาลาแปลง)                          

                5. เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ                     (ท่ารำ  แขกเต้าเข้ารัง  ผาลาเพียงไหล่)           

                6. เพลงดอกไม้ของชาติ                       (ท่ารำ  รำยั่ว)

                7. เพลงหญิงไทยใจงาม                       (ท่ารำ  พรหมสี่หน้า  ยูงฟ้อนหาง)

                8. เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า                     (ท่ารำ  ช้างประสานงา  จันทร์ทรงกลดแปลง)

                9. เพลงยอดชายใจหาญ                       (ท่ารำ  ชะนีร่ายไม้  จ่อเพลิงกาฬ)

                10. เพลงบูชานักรบ                            (ท่ารำ  ขัดจางนาง/จันทร์ทรงกลด และล่อแก้ว/ขอแก้ว)

 

   ดนตรีประกอบการแสดง

                สามารถใช้ได้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล  ดนตรีไทย  เช่น  วงปี่พาทย์เครื่องห้า  ซึ่งประกอบด้วย
   เครื่องดนตรีหลัก 5 ชนิด  ได้แก่  ปี่ใน  ระนาดเอก  ฆ้องวงใหญ่  ตะโพน  กลองทัดและเครื่องประกอบจังหวะ คือ ฉิ่ง

 

   ลักษณะการแต่งกาย

                การแต่งกาย มี  3  แบบ  คือ  แบบพื้นบ้าน  แบบไทยนิยม แบบสากลนิยม หรือแบบราตรีสโมสร

   วิธีแสดงรำวงมาตรฐาน

  1. แสดงแบบระบำหมู่ หญิงคู่ชายหลาย ๆ คู่ ( ไม่ควรน้อยกว่า  5  คู่ )
  2. เดินวงทวนเข็มนาฬิกา  ( วนซ้าย )
  3. ก่อนรำหญิง-ชาย ทำความเคารพกันด้วยการไหว้
  4. ก่อนรำแต่ละเพลงจะมีดนตรีนำ 1 วรรคเพื่อให้ผู้รำเตรียมตัวทัน
  5. แต่ละเพลงต้องรำด้วยท่ารำประจำเพลง ไม่ควรเปลี่ยนแปลงท่ารำ
  
ตัวอย่างเพลงรำวงมาตรฐาน
 

เพลงงามแสงเดือน

( ท่าสอดสร้อยมาลา )

                                งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า                             งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ ( ซ้ำ )

                เราเล่นเพื่อสนุก                                                                      เปลื้องทุกข์ให้วายระกำ

                ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                                                    เพื่อสามัคคีเอย

 

เพลง ชาวไทย

(ท่าชักแป้งผัดหน้า)

                                ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                                                ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่          

                การที่เราได้เล่นสนุก                                                           เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้

                เพราะชาติเราได้เสรี                                                           มีเอกราชสมบูรณ์

                เราจึงควรช่วยชูชาติ                                                            ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ

                เพื่อความสุขเพิ่มพูน                                                           ของชาวไทยเราเอย

 

เพลงรำซิมารำ

(ท่ารำส่าย)

                                รำมาซิมารำ                                                  เริงระบำกันให้สนุก

                ยามงานเราทำงานจริงๆ                                                     ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็นทุกข์

                ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น                                                      ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์

                ตามเยี่ยงอย่างตามยุค                                                       เล่นสนุกแบบวัฒนธรรม

                เล่นอะไรให้มีระเบียบ                                                        ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ

                มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ                                                     มาเล่นระบำของไทยเราเอย