เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง การละครสากล

เอกสารประกอบการสอนรายวิชา  ศ31102   ศิลปะ 2    ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4
หน่วยการเรียนรู้ที่  2     ละครสร้างสรรค์          เรื่อง  การละครสากล

…...........................................................................................................................................

การละครสากล

       การละคร คือ   การนำจินตนาการของมนุษย์มาผูกเป็นเรื่องและนำเสนอต่อผู้ชม
ในรูปของการแสดง ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง
  การแบ่งประเภทของละครตามโครงเรื่อง 
( รวมทั้งภาพยนตร์ )    สามารถแบ่งได้ 8 ประเภท ดังนี้

1. สุขนาฏกรรม  [ Comedy ]   คือ  ละครที่มีโครงเรื่องที่สมเหตุสมผล เป็นเรื่องที่ตัวเอกจะพบปัญหาแล้วจบลงด้วยความสำเร็จและชัยชนะของตัวเอก  ขณะเดียวกันการดำเนินเรื่องจะมีตัวละครตัวอื่นๆ เช่น เพื่อนพระเอก / นางเอก นำเสนอความตลกขบขันสอดแทรก ควบคู่กันไปด้วย ละครประเภทนี้
ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่   เวนิสวานิช ของวิลเลียม เชกสเปียร์   บางรักซอย 9  เป็นต้น

2. โศกนาฏกรรม  [ Tragedy ]  คือ ละครที่พระเอก นางเอกต้องพบกับความพ่ายแพ้  ไม่สามารถ
แก้ปัญหา ลงท้ายด้วยความเศร้า หรือ ตายอันเนื่องมาจากความรักที่มีมากเกินไป  ความมักใหญ่ใฝ่สูง  ความอิจฉาริษยา  การอาฆาตแค้น  ละครโศกนาฏกรรมที่เป็นอมตะ  คือ เรื่อง โรมิโอและจูเลียต 
ของวิลเลียม เชคสเปียร์  แผลเก่า  คู่กรรม เป็นต้น                  

3. หัสนาฏกรรม  [ Farce ]  คือ  สุขนาฏกรรมที่เกินความจริง เป็นไปไม่ได้ แต่ตลกขบขันและจบลงด้วยความเข้าใจกัน เช่น  ภาพยนตร์ใบ้ของชาร์ลี  แชปลิน    มิสเตอร์บีน เป็นต้น          

4. นาฏกรรมเรื่องรัก  [ Romantic  Drama ]   คือ ละครที่มีโครงเรื่องชนิดที่ผู้คนใฝ่ฝันที่จะได้พบแต่ไม่สามารถพบเจอได้ในชิวิตจริง ตัวเอกมักเลอเลิศ เป็นวีรบุรุษ วีรสตรี เรื่องราวมักเป็นการผจญภัยของตัวเอก ความรักและการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ตอนจบมักชี้ให้เห็นว่า  คุณธรรม  ความดีต้องชนะความชั่วเสมอ  เช่น  สุริโยทัย  จูมง  เป็นต้น

5. นาฏบทจินตนาการ  [ Fantasy ]  คือ  ละครที่มีเนื้อเรื่อง   และฉากที่เหมือนความฝันไม่สามารถเป็นจริงได้ ตัวละครบางทีก็มีนางฟ้า นางสวรรค์  ตัวละครสำคัญจะพบปัญหาและอุปสรรคที่แก้ไม่ได้ร้อนถึงเทพเจ้าต้องมาช่วยในที่สุด  เช่น  สังข์ทอง  แฮรี่พอตเตอร์  เป็นต้น 

6. นาฏกรรมสะเทือนอารมณ์  [ Melodrama ]  คือ ละครแนวฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย ความรักที่ซับซ้อน  ลึกลับ  เช่น  ซีอุย  เปิงมาง  เป็นต้น

7. สุขนาฏกรรมชีวิต  [ Comedy of Manners ]  คือ ละครที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม   สมัยนิยม   อุปาทานของมนุษย์  เช่น  15 ค่ำ เดือน 11  นาคี  เป็นต้น        

8. นาฏกรรมทางสังคม  [ Social  Drama ]  คือ  ละครที่แสดงถึงปัญหาของสังคม  ชีวิตของกรรมกร  ความยากจนอย่างแสนสาหัส  อาชญากรรม  ปัญหาวัยรุ่น  เช่น  น้ำพุ  สามชุก  เป็นต้น

                                                             องค์ประกอบละคร        

            1. เรื่อง  หรือ  บทละคร                      2. การแสดง                          3. ผู้ชม

1. เรื่อง หรือ บทละคร 

                หมายถึง  การลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีจุดหมายปลายทาง  ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่า ใครทำอะไร  ด้วยจุดประสงค์อย่างไร   มีอุปสรรคหรือไม่  และได้รับผลอย่างไร....บทละครที่ดีต้องประกอบด้วย

1. โครงเรื่อง   *  ลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีจุดหมายปลายทางมีความยาวพอเหมาะ

2. ตัวละคร    *    คือ  ผู้กระทำ หรือ ผู้ที่ได้รับผลจากการกระทำในบทละคร

                       2.1  ตัวละครแบบตายตัว  /  มองเห็นเพียงด้านเดียว มีนิสัยตามแบบฉบับนิยม  เช่น                                พระเอก – นางเอก  ผู้ร้าย  ตัวอิจฉา

                       2.2  ตัวละครแบบเห็นได้รอบด้าน / เข้าใจได้ยากกว่าตัวละครแบบแร นิสัยคล้าย                                    คนจริง  มีทั้งส่วนดี – ส่วนเสีย            

3. ความคิด   *     แง่คิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงผู้ชม   

4. การใช้ภาษา *  บทเจรจาของตัวละคร  ต้องเหมาะสมกับนิสัยของตัวละคร  สื่อความได้ชัดเจน

5. เพลง    *  เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดเรื่องราว เช่น เป็นบทร้องของผู้แสดงหรือเพลงประกอบ                        หรือแม้แต่ความเงียบเมื่อตัวละครได้รับข่าวร้าย        

6. ภาพ     *   คือ ภาพที่ปรากฏต่อผู้ชม อันเกิดมาจากผลรวมของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการแสดง                         สามารถวัดความชัดเจนได้จากความพึงพอใจของผู้ชม                                                                    

 

2. การแสดง

               ในการจัดการแสดงทุกชนิด ต้องใช้บุคคลที่มีความรู้หลายแขนงมาทำงานร่วมกัน ซึ่งความสำเร็จของงานก็ขึ้นอยู่กับการเลือกผู้รับผิดชอบให้เหมาะกับงาน ประกอบกับการที่ทุกฝ่ายมีการประสานงานกันเป็นอย่างดี  สามารถแบ่งตำแหน่งและหน้าที่ในการจัดการแสดงตามแขนงต่างๆ  ได้ดังนี้

ผู้อำนวยการแสดง

          ผู้จัด หรือ หัวหน้าที่มีอำนาจสูงสุดในการจัดการแสดง  เป็นผู้วางจุดประสงค์ในการแสดง ดูแลเงินทุน และคอยแนะนำ / แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น

ผู้กำกับการแสดง

          เป็นตัวจักรที่สำคัญที่สุดของการแสดง   มีหน้าที่ฝึกซ้อมนักแสดง  และควบคุมการแสดง      

ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง

          รับผิดชอบการแสดงทั้งหมด โดยประสานงานกับผู้กำกับเวทีเป็นผู้ช่วยที่คอยรับคำสั่งจากผู้กำกับการแสดงมาดำเนินการต่อ

ผู้กำกับเวที

          มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล  กำกับทุกอย่างบนเวที  เช่น  ฉาก อุปกรณ์การแสดง  แสง สี เสียง

ผู้เขียนบท

          เป็นหัวใจของการแสดง เพราะเป็นผู้สร้างโครงเรื่อง และเหตุการณ์ทั้งหมดในการแสดง

ผู้จัดการฝ่ายธุรการ

          จัดการเกี่ยวกับธุรกิจการแสดง เช่น  หาสถานที่แสดง  จำหน่ายบัตร  จัดที่นั่ง  ทำสูจิบัตร

ฝ่ายเครื่องแต่งกาย และแต่งหน้า   

          จัดเตรียมเครื่องแต่งกายผู้แสดงตามที่ผู้กำกับเวทีมอบหมาย  และแต่งหน้า  ทำผมให้กับนักแสดง

เจ้าหน้าที่เวที

          ประสานงานกับผู้กำกับเวที โดยทำหน้าที่จัดเวที  ฉาก  อุปกรณ์ประกอบฉาก  เป็นต้น

นักแสดง              

           คือ ผู้สวมบทบาทเป็นตัวละคร เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว  ความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่ในบทละครมาสู่ผู้ชม

++การวางตำแหน่งตัวละคร++

           การวางตำแหน่งตัวละครอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงพื้นที่ของเวที แบ่งได้เป็น  6  ส่วน 
และแต่ละส่วนล้วนมีความหมายที่แตกต่างกันไป  ดังนี้

ขวาหลัง (5)

กลางหลัง  (4)

ซ้ายหลัง (6)

ขวาหน้า (2)

กลางหน้า  (1)

ซ้ายหน้า (3)

 

ส่วนที่  1  กลางหน้า          การประจันหน้า  การโต้ตอบ หรือการต่อสู้  (เด่นที่สุด)

ส่วนที่  2  ขวาหน้า             ใช้แสดงความรัก  ความเมตตา ปราณี

ส่วนที่  3  ซ้ายหน้า            ใช้แสดงความลี้ลับ  คิดกลอุบาย  เย้ยหยัน

ส่วนที่  4  กลางหลัง          จุดเริ่มต้นตอนสำคัญ ก่อนที่ผู้แสดงจะขยับมาหน้าเวที

ส่วนที่  5  ขวาหลัง             เป็นที่ลับตา เหมาะในการแอบซ่อน  แอบมอง หรือแสดงบทเล็กๆน้อยๆ

ส่วนที่  6  ซ้ายหลัง            เป็นจุดที่ห่างไกล เลือนลาง เหมาะสำหรับการแสดงของภูตผีปีศาจ

++การเคลื่อนไหวบนเวที++

                มีหลักในการเคลื่อนไหวบนเวที เพื่อสื่ออารมณ์ต่าง ๆ ดังนี้

1. เคลื่อนไหวเป็นเส้นตรง   เมื่อมีอารมณ์แรงๆ เช่น  โกรธ  (ซึ่งผู้แสดงมักหันข้างให้คนดู)

2. เคลื่อนไหวเป็นเส้นโค้ง   แสดงความเห็นใจ  สงสาร

3. เคลื่อนไหวไปด้านข้าง    เมื่อต้องการหลีกเลี่ยง  เล็ดลอด หรือ  แอบดู

4. การใช้มือทำท่าประกอบ  เมื่อต้องการย้ำคำพูดให้ชัดเจน

5. การใช้เท้าและขา           ผู้หญิงเข่าชิดกัน / ตัวเอกตัวตรง ไม่พักขา / คนแก่กางขาออก  หลังค่อม



เอกสารอ้างอิง
เต็มศิริ  บุณยสิงห์ , เจือ  สตะเวทิน . การละครเพื่อการศึกษา . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว , 2526

ศึกษาธิการ , กระทรวง .ศิลปะการละครเบื้องต้น 1-2 . กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว , 2531

__________________ . หนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระนาฏศิลป์ ละครสร้างสรรค์ ช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 3) . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548