ประวัติละครไทย

                 เอกสารประกอบการสอนรายวิชา ศ21102     วิชาศิลปะ 2      ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1

            หน่วยการเรียนรู้ที่  1   สืบสานนาฏศิลป์ไทย         เรื่อง  ประวัติละครไทย

..........................................................................................................................................................................

ประวัติละครไทย            

                 ละครไทยสามารถแบ่งตามยุคสมัยได้เป็น  5  ยุคสมัย คือ  น่านเจ้า  สุโขทัย  อยุธยา  ธนบุรี 
และรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 – 7)

สมัยน่านเจ้า

                 ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าอาณาจักรน่านเจ้ามีละครที่เป็นที่รู้จัก เรื่อง มโนห์รา และ
ยังมีการแสดงระบำ เช่น ระบำหมวก  ระบำนกยูง

สมัยสุโขทัย

                 จากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  กล่าวถึง การแสดงในสมัยสุโขทัยว่า  มีการประโคม
และการละเล่นแบบพื้นเมือง  มีการบัญญัติศัพท์ในการแสดงเป็นแบบแผนว่า  โขน  ละคร  ฟ้อนรำ

สมัยอยุธยา

                 สมัยอยุธยามีละคร  3   ประเภทคือ ละครชาตรีซึ่งเป็นละครดั้งเดิม  ละครนอกที่แก้ไขมาจาก
ละครชาตรี และละครในเป็นละครของผู้หญิง  มีบทละครสำหรับแสดงละคร 22  เรื่อง เช่น  มโนห์รา  คาวี 
อิเหนา  อุณรุท  รามเกียรติ์  ดาหลัง

สมัยธนบุรี

                 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดละครมาก  ทรงควบคุมการแสดงละครและพระราชนิพนธ์บทละคร
เรื่อง  รามเกียรติ์  5  ตอน คือ  หนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์  ท้าวมาลีวราชว่าความ  ทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด
(เผารูปเทวดา)  พระลักษมณ์ถูกหอกกบิลพัท  ปล่อยม้าอุปการ

สมัยรัตนโกสินทร์

 รัชกาลที่ 1

                ทรงพระราชนิพนธ์ “นิราศท่าดินแดง”  และทรงเป็นประมุขในการแต่งบทละคร เรื่อง อุณรุท รามเกียรติ์ 
อิเหนา  ดาหลัง

รัชกาลที่ 2

                จัดเป็นยุคทองของวรรณคดี เพราะทรงสนพระทัยในการละครมาก  พระราชนิพนธ์บทละครไว้มากมาย
บทละครที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดแห่งบทละครรำ คือ อิเหนา  นอกจากนี้ยังมีบทละครนอก
ได้แก่ ไกรทอง  คาวี  ไชยเชษฐ์ และมณีพิชัย

รัชกาลที่ 3

                ยกเลิกละครหลวง เป็นเหตุให้เกิดคณะละครของเจ้านายและขุนนางขึ้นอย่างแพร่หลาย เช่น
ละครของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ  ละครเจ้ากรับ

รัชกาลที่ 4

                โปรดให้มีละครหลวง และมีการเก็บภาษีโขน ละคร และทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เช่น รามเกียรติ์
ตอน พระรามเดินดง  บทเบิกโรง นารายณ์ปราบนนทก

รัชกาลที่ 5

                ทรงสนับสนุนให้เจ้านาย และเอกชนจัดตั้งคณะละคร จึงเกิดละครและโรงละครต่างๆได้แก่

                1. “ละครดึกดำบรรพ์” ละครที่เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

                2. “โรงละครปริ้นเธียร์เตอร์” ของพระวรวงศ์เธอ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ซึ่งเก็บค่าชมละคร
จากผู้ชมเป็นคณะแรก

                3. “ละครหลวงนฤมิตร” ละครรำซึ่งพัฒนาเป็นละครร้องเรียกว่า “ละครปรีดาลัย”
ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

รัชกาลที่ 6

               1. โปรดให้ตั้งกรมมหรสพ และจัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดโขน ละครและปี่พาทย์  คือ
โรงเรียนทหารกระบี่หลวง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพรานหลวง

               2. ทรงพระราชนิพนธ์บทละครหลายเรื่อง  เช่น พระร่วง  ศกุนตลา ท้าวแสนปม  หัวใจนักรบ

รัชกาลที่ 7

               1. มีละครสมัยใหม่ คือ ละครหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีลักษณะปลุกใจให้รักชาติ สร้างพลังสามัคคี
เช่น เรื่อง เลือดสุพรรณ  ราชธิดาพระร่วง  อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง

               2. มีโรงละครเอกชน คือ ละครจันทโรภาส คณะละครร้องของนายจวงจันทร์ จันทร์คณา
(พรานบูรณ์)ซึ่งปรับปรุงจากการร้องเพลงไทยเดิมเป็นเพลงแบบไทยสากล เรื่องที่มีชื่อเสียงคือ เรื่อง จันทร์เจ้าขา