เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์

เอกสารประกอบการสอนรายวิชา  ศ33102         ศิลปะ 2        ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4

            หน่วยการเรียนรู้ที่  1   นาฏศิลป์ถิ่นลดาวัลย์      เรื่อง  ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์    .............................................................................................................................................

ที่มาของการแสดง

      โรงเรียนสงวนหญิง (ชื่อเดิมโรงเรียนสตรีสุพรรณบุรี)  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2472 โดยแยกจากโรงเรียนประจำจังหวัดกรรณสูตศึกษาลัย  ด้วยพระยาพิศาลสารเกษตร (พร  พิมพสุต)  ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นเห็นสมควรจะได้แยกนักเรียนสตรีไว้ต่างหากไม่ปะปนกับนักเรียนชาย  เพื่อเป็นการขยายการศึกษาแก่สตรีในจังหวัดสุพรรณบุรี  หวังอบรมเยาวชนหญิงให้มีปัญญารู้รักษาตน และรู้รักษาคุณค่าแห่งกุลสตรีไทย                
      จวบจนวันนี้โรงเรียนสงวนหญิงเป็นโรงเรียนที่ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาการ  บรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม สะอาด  ร่มรื่น  ตลอดจนความประพฤติ  ความมีระเบียบวินัยของนักเรียนมาโดยตลอดกว่า 80  ปี
      ด้วยเกียรติประวัติอันทรงคุณค่าที่สืบต่อกันมายาวนานของโรงเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  โรงเรียนสงวนหญิงจึงมีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์การแสดงนาฏศิลป์ขึ้น   เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารให้ทุกคนได้ประจักษ์ชัดในอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่ยืนหยัด  มุ่งมั่น  ในการหล่อหลอมให้นักเรียนของโรงเรียนเปี่ยมไปด้วยความรู้  คุณธรรม  สุภาพ  เรียบร้อยสมเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อม  งดงามดังปณิธานของการก่อตั้งโรงเรียน

 

เนื้อเพลงระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์

                เนื้อเพลงระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกลอนสอนใจที่ลูกลดาวัลย์ทุกคนจำได้ขึ้นใจ  ประพันธ์โดยนายเชิดศักดิ์  ศุภโสภณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสงวนหญิง   ความว่า......

                                                “ สงวนหญิง   สิ่งควร   สงวนไว้

                                                   สงวนใจ   ให้ควร   สงวนหญิง

                                                   สงวนคำ   ย้ำควร   สงวนจริง

                                                   สงวนยิ่ง   สิ่งควร   สงวนตัว”

                บทกลอนสอนใจข้างต้นได้หลอมรวมไว้ซึ่งอัตลักษณ์  เอกลักษณ์ของโรงเรียนสงวนหญิงอย่างครบถ้วนแล้ว  กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะจึงนำบทกลอนดังกล่าวมาขยายความทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการแสดงนาฏศิลป์  และสร้างสรรค์บทร้อง  ทำนองเพลง  ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่จนเสร็จสมบูรณ์โดยใช้เพลง  “ลีลากระทุ่ม”  เป็นทำนองเพลงหลัก เพราะมีท่วงทำนองเพลงอ่อนหวาน  นุ่มนวลสอดคล้องกับเนื้อเพลง ให้ชื่อการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ว่า  “ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์”

 

เพลง  ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์

(เพลงลีลากระทุ่ม)
ลดาวัลย์ผลิบานพราวพิสุทธิ์                              เปรียบประดุจกุลสตรีศรีสยาม

                มีความรู้กิริยาสง่างาม                                                    ดำเนินตามบุรพาจารย์เนิ่นนานมา

                                สงวนหญิงสิ่งควรสงวนไว้                                สงวนใจรักษ์ความดีทุกทิศา

                ประคองใจให้ยึดมั่นในธรรมา                                             สงวนคำวาจาด้วยจริงใจ

                                สงวนตัวด้วยการประพฤติชอบ                           ตามระบอบประเพณีสมสมัย

                สงวนหญิงรักษากายวาจาใจ                                             ให้เลื่องลือขจรไกลในธาตรี

(เพลงฝรั่งควง)

                                ลดาวัลย์ผลิบานพราวพิสุทธิ์                             เปรียบประดุจสตรีงามสมศักดิ์ศรี

                ที่ศึกษา ณ สงวนหญิงสุพรรณบุรี                                        อีกร้อยปีคงคุณค่านิรันดร์เทอญ

(เพลงรัวดึกดำบรรพ์)

 

ลักษณะการแสดง

                ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์เป็นการแสดงแบบระบำหมู่  ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน  ลีลาท่ารำแสดงถึงความอ่อนช้อย  งดงามของกุลสตรี  โดยประยุกต์ท่ารำจากนาฏยศัพท์และภาษาท่าพื้นฐานนาฏศิลป์ไทย

วงดนตรีประกอบการแสดง

                วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง  คือ วงปี่พาทย์ไม้นวม  ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรี  ดังนี้

                                1. ระนาดเอก                                                       2. ระนาดทุ้ม

                                3. ฆ้องวงใหญ่                                                     4. ฆ้องวงเล็ก

                                5. ซออู้                                                             6. ขลุ่ยเพียงออ

                                7. กลองแขก                                                       8. ฉิ่ง

        

การแต่งกาย

                ผู้แสดงห่มสไบ  นุ่งผ้านุ่งจีบหน้านางตามลักษณะของกุลสตรีไทย  โทนสีน้ำเงิน – ขาว  ตามสีประจำโรงเรียนสงวนหญิง

                สวมเครื่องประดับ ได้แก่ เกี้ยวยอด  สร้อยคอ  ต่างหู เข็มขัด สังวาล กำไลข้อมือ ที่สำคัญคือ  ทัดดอกลดาวัลย์ดอกไม้ประจำโรงเรียนซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุดการแสดง “ระบำนาฏนารีศรีลดาวัลย์”


D7K_2956.jpg