ท่องแดนมังกรกับครูบุญสม

som chaina.jpg
              










ฉันได้รับทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทย  จังหวัดสุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยเฉิงตู 
มณฑลเสฉวนประเทศจีน ให้มาเรียนภาษาจีน
1 มีนาคม 2552   ครอบครัวของฉัน และครูที่โรงเรียนมาส่งที่สนามบิน
จากสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลา 3 ชั่วโมง ก็ถึงท่าอากาศยานซวนหลิว เมืองเฉิงตู เมืองหลวงแห่งมณฑลเสฉวน
ศูนย์กลางการคมนาคม การสื่อสาร และการค้าของจีนในภาคตะวันตกเฉียงใต้  มีเจ้าหน้าที่กงศุลมารับที่สนามบิน
อากาศที่เมืองจีนตอนนั้นหนาวมาก มาจากเมืองไทย 30  องศา  มาถึงเมืองจีน อุณหภูมิ 9 องศา ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต 
ที่เจออากาศเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วมาก ๆ  แบบนี้

ฉันได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีก 4 คน เป็นต่างชาติทั้งหมดเลย แต่นักศึกษาต่างชาติไม่ค่อยมาเรียน
ส่วนฉันขยันไปเรียนทุกวันไม่เคยขาดเรียน บางวันมีฉันไปเรียนคนเดียว ก็เรียนคนเดียว อาจารย์ก็สอน 
แรกที่มาเรียนรู้สึกเครียดมากเพราะอาจารย์ที่สอน ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งฉันก็ไม่เก่งทั้งสองวิชา
ทุกคนในห้องเข้าใจ แต่ฉันไม่เข้าใจ แต่พอเรียนไปได้สัก 1  เดือน อาจารย์พูดภาษาจีนมากขึ้น และฉันก็เริ่มปรับตัวได้
ก็ดีขึ้นสามารถสื่อสารกันเข้าใจมากขึ้น การเรียนดูมีความสุขมากขึ้น

ฉันมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู ที่นี่ให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก เพราะที่นี่มีนักศึกษาจีนที่สนใจเรียน
สาขาภาษาไทยกันเยอะมาก เด็ก ๆ ก็พยายามมาพูดภาษาไทยกับฉัน ฉันเลยได้ฝึกพูดภาษาจีนของฉันด้วย 
ที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู  ได้จัดงานวันสงกรานต์  จัดงานและเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยจีน ก็รู้สึกดีใจที่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทย
เรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทย  ให้คนจีนได้รู้  คนจีนที่นี่ น่ารักมากให้ความสำคัญกับคนไทย ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี
พยายามมาพูดคุยและสื่อสารกับเราตลอดเวลา

ต่อไปฉันจะเล่าถึง  เมืองเฉิงตู  มลฑลเสฉวน ซึ่งคนจีนเรียกว่า “ซื่อชวน”  สถาพทั่วไปของคนมณฑลเสฉวน 
เป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน มีเมืองหลวงชื่อ เมืองเฉิงตู  มณฑลเสฉวนอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนตอนบน
ของแม่น้ำแยงซีเกียง เมื่อสมัยก่อน เคยเป็นราชธานี    ก๊กสู่ฮั่นของเล่าปี่และขงเบ้งในสมัยสามก๊ก ปลายราชวงศ์ฮั่น
ขงเบ้งได้เลือก เอาเสฉวนเป็นราชธานีของก๊กสู่ เพื่อหมายฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น              

เมื่อพูดถึง มณฑลเสฉวน คนไทยที่พอจะรู้จักมณฑลนี้ของจีนบ้างก็จะนึกถึงอาหารจีนรสจัดแบบเสฉวนที่มีรสชาติเผ็ดชา
มีคนเล่าให้ฟังว่า อาหารเสฉวนเป็นหนึ่งในอาหารจีนที่มีรสชาติอร่อยที่สุด พอฉันได้ลองกินอาหารเสฉวนแล้วอาหารเสฉวน
จะมีรสชาติแบบ เผ็ด และ ชาลิ้นจริงๆ  ฉันจึงถามคนจีนว่าทำไมจึงชาลิ้น เขาบอกว่าคนเสฉวนชอบใส่ ฮวาเจียว
ในอาหารแทบทุกชนิด ฮวาเจียว เป็นเม็ดคล้ายเม็ดพริกไทยบ้านเรา แต่ถ้าเรากินถูกฮวาเจียวแล้วลิ้นเราจะชา
มีน้ำลายไหลออกมาตลอด ถ้าคนเสฉวนเขาชอบมาก  แต่ฉันกินอาหารต่อไม่ได้เลย ต้องบ้วนน้ำนานมาก เพื่อให้หายชาลิ้น
ตั้งแต่ฉันกินฮวาเจียวไปครั้งแรก ครั้งต่อไปเวลาฉันจะกินอาหารอะไร ฉันต้องระวังตลอด เพราะถ้าได้กินฮวาเจียวแล้ว
ก็จะอดกินอาหารจานนั้นต่อเลย บางครั้งฉันต้องบอกเขาว่า ไม่ให้เขาใส่ฮวาเจียว และอาหารเสฉวนมีรสเผ็ดแบบ
คนไทยยอมแพ้ เพราะเผ็ดมากว่าไทยมากเลย เราคนไทยไม่สามารถกินได้ เวลาจะสั่งอาหารต้องบอกว่า ไม่เผ็ด
และไม่เอาฮวาเจียว ก็จะได้รสชาติที่เราคนไทยกินได้

มาถึงเมืองจีน พูดถึงอาหารจีน  จะไม่พูดถึงชาจีนไม่ได้ ชาจีนและวัฒนธรรมการดื่มชา ในเมืองเฉิงตูมีการผลิตชาจีน
ที่มีรสชาติดีและมีคุณภาพมากมาย ผสมผสานกับวัฒนธรรมการชงชาและดื่มชาของคนจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
ที่เมืองเฉิงตูมาเอกลักษณ์การชงชาที่ไม่เคยเห็นที่ไหน คือ การใช้การน้ำชาที่มาปากของกายาวมาก
มีการแสดงให้ดูสวยงามมาก ซึ่งฉันได้เห็นการแสดงนี้ที่การแสดง โชว์เปลี่ยนหน้ากาก

พูดถึงเสฉวน บางคนนึกถึงหมีแพนด้าที่มีถิ่นกำเนิดในเสฉวน ที่มณฑลเสฉวน  มีศูนย์อนุรักษ์แพนด้าเสฉวน   
คนที่นี่จะรู้จักในชื่อชอง  “ ซื่อชวนต้าฉงเมาจีตี้”  เป็นสถานที่เพาะพันธุ์และบ้านของหมีแพนด้าทั่วโลก
สัตว์ใกล้ศูนย์พันธุ์หลากหลายสายพันธุ์อื่นๆ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด

ซึ่งเป็นบ้านเกิดของช่วงช่วง-หลินฮุ่ย หมีแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่บ้านเรา หมีแพนด้าเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะประเทศจีน
และเป็นสัตว์คุ้มครอง หมีแพนด้าใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอน  แต่ถ้าตื่นขึ้นมาก็จะกินทันที 
จัดเป็นสัตว์กินจุโดยสามารถกินต้นไผ่ได้วันละ 50 กก. 

มณฑลเสฉวนยังเป็นมณฑลบ้านเกิดของ เติ้งเสี่ยวผิง  ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
และดำรงตำแหน่งที่เปรียบเสมือนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปลายทศวรรษที่ พ.ศ. 2513
ถึงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2533 นับเป็นชนชั้นผู้นำรุ่นที่สองของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง
ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก

ในระยะหลังความสำคัญของเสฉวนในสายตาของคนไทยอีกด้านคือ การมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม
และติดอันดับมรดกโลกของยูเนสโก อย่างเช่น จิ่วจ้ายโกว เขาง้อไบ๊ หรือพระพุทธรูปใหญ่เล่อซาน  
แต่สถานที่ที่สำคัญที่ฉันไปเที่ยวในมณฑลเสฉวน มีมากมายหลายที่มาก  แต่ฉันจะขอเล่าเฉพาะบางทีที่สำคัญ
และเป็นที่รู้จักของคนที่มาเที่ยวที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนต้องไปเที่ยวสถานที่เหล่านั้นไม่เช่นนั้นแสดงว่ายังไม่มาถึงเฉิงตู

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ ถ้ามาแล้วไม่ไปดู ถือว่ามาไม่ถึงเฉิงตู คือการแสดง โชว์เปลี่ยนหน้ากาก
ซึ่งถือเป็นการแสดงขึ้นชื่อของเมืองเฉิงตู นักท่องเที่ยว ทุกคนต้องมาดู เพราะเป็นโชว์พิเศษแสดงเฉพาะ
ที่มณฑลเสฉวนเท่านั้น ทั้งฉากทั้งตัวแสดงทำได้สวยงามและน่าติดตาม ความประทับใจอยู่ที่การเปลี่ยน
หน้ากากที่ทำภายในเสี้ยววินาที โดยที่คนดูไม่สามารถจับตาดูได้ทัน การแสดงใช้เวลา 1 ชั่วโมง 
ความหมายของการแสดงโชว์เปลี่ยนหน้ากาก เป็น การสะท้อนถึงอารมณ์อันหลากหลายของมนุษย์ที่มีทั้งความโหดร้าย
ทารุณ ความใจดี ความรัก ฯลฯโชว์เปลี่ยนหน้ากากเป็นการแสดงที่สงวนและสืบทอดกันมาภายในตระกูลหลายชั่วอายุคน
ไม่ถ่ายทอดให้บุคคลภายนอกทั่วไป  นอกจากโชว์เปลี่ยนหน้ากากแล้ว ยังมีโชว์อื่นๆ อีกมากมาย
เช่น โชว์เล่นเงา โดยใช้มือเล่นเป็นรูปต่างๆ เป็นนกบ้าง เป็ดบ้าง และมีการแสดงนิสัยของผู้ชายเมืองเสฉวน
คนที่นี่เล่าให้ฟังว่า เวลามีสามีให้เลือกคนที่มลฑลเสฉวน เพราะผู้ชายเสฉวน กลัวภรรยามากที่สุด จึงมีการแสดงให้ดูด้วย
เป็นการแสดงที่ตลกมาก ผู้ชมหัวเราะกันไม่หยุดเลย จากนี้ยังมีการแสดงงิ้ว การแสดงดนตรีจีน
การแสดงเชิดหุ่นที่ใช้คนเชิดคนเดียวแต่หุ่นสามารถเคลื่อนไหวได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งสวยงามมาก  
ดูแล้วเกิดความประทับใจไม่รู้ลืม

ต่อไปเป็นเมืองตูเจียงเยี่ยน (Dujiangyan) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 มรดกโลกของเสฉวน เพื่อชมเขื่อนโบราณตูเจียงเยี่ยน
เป็นเขื่อนดินชลประทานแห่งแรกของโลก สร้างในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ มีอายุกว่า 2,000 ปี  คนจีนเล่าว่า เขื่อนแห่งนี้สร้างโดย
'หลี่ปิงและลูก' เป็นกษัตริย์สมัยนั้น ซึ่งเขื่อนนี้สร้างมาก่อนกำแพงเมืองจีน  50  ปี  ปัจจุบันยังใช้งานได้
และเป็นแม่แบบของการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของจีน เล่ากันว่าเขื่อนตูเจียงเยี่ยนยังส่งน้ำหล่อเลี้ยงการเพาะปลูก
สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เมืองใหญ่อย่างเฉิงตูมาจนทุกวันนี้ แต่ระหว่างทางที่ไปเราก็ยังจะได้เห็นร่องรอยผลกระทบ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12  พฤษภาคม 2551 ซึ่งยังมีร่องรอยของบ้านเรือนที่เสียหาย

เพราะเหตุการณ์นี้ 
ต่อไปเป็นสุสานเล่าปี่และขงเบ้งในนิยายสามก๊ก มณฑลเสฉวน ที่ตั้งเมืองเฉิงตู คือเมืองที่ 'ขงเบ้ง' วางแผนให้ 'ก๊กสู่'
ชื่อก๊กของเล่าปี่บุกเข้าตีเพื่อยึดเมืองด้านตะวันตกของจีน เนื่อง จากมีชัยภูมิที่ดีตามตำรายุทธศาสตร์ ในที่สุด
สามารถยึดมณฑลเสฉวนได้สำเร็จ โดยศึกครั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทเด่น คือ 'เตียวหุย' ซึ่งปกติมีนิสัยมุทะลุ ใจร้อน
แต่ศึกครั้งนี้เตียวหุยกลับใช้ยุทธวิธีทั้งอ่อนและแข็ง จนได้รับชัยชนะ  

ส่วน 'ขงเบ้ง' ภายหลังก็เสียชีวิตที่เมืองเฉิงตูเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจุดไหน แต่ก็มี ศาลเจ้ า อู่โหว หรือ อู่โหวฉือ
ที่ด้านหลังเป็นหลุมฝังศพของเล่าปี่และขงเบ้ง มีรูปปั้นที่ศาลเจ้าด้วย ด้านซ้ายขวาของเล่าปี่เป็นขุนนาง
ฝ่ายบู๊และบุ๋น ฝ่ายบู๊มีกวนอู
เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว และหวังตง ขณะที่ฝ่ายบุ๋น ได้แก่ ซีซี ขงเบ้ง และบังทอง  'สามก๊ก' ได้ใช้ศิลปะการประพันธ์ต่างๆ
บรรยายการต่อสู้ทางการเมือง การทหาร ผ่านตัวละครที่สร้างขึ้นมาถึง 400 ตัว แต่ละตัวต่างมีเอกลักษณ์โดดเด่น

นั่งรถจากเมืองเฉิงตูที่เป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ไปประมาณ  2 ชั่วโมงกว่า ก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกสถานที่หนึ่ง
ที่คนมาเสฉวนแล้วต้องไปเที่ยวให้ได้ คือ วัดหลวงพ่อโตเล่อซาน ระหว่างทางที่ไปจะผ่านทุ่งหญ้าเขียวขจี
ทุ่งดอกไม้สองข้างทางที่มีฉากหลังเป็นภูเขา และช่องเขามีลำธารเล็กๆ ไหลผ่าน งามราวกับภาพจิตรกรฝีมือเอก
สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฉันมาก 'หลวงพ่อโตเล่อซาน' พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีความสูงถึง
71 เมตร พระพักตร์ของหลวงพ่อหันหน้าสู่แม่น้ำหมิงเจียง แสดงออกถึงความเมตตาที่มีต่อมวลมนุษย์
ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 90 ปี หลวงพ่อไห่ธง เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นโดยใช้เงินบริจาคจากชาวบ้านความศรัทธา
ในแบบพุทธศาสนิกชน หลายคนร่วมทำบุญกับทางวัด

เมื่อไปเมืองเล่อซานแล้ว ทุกคนจะต้องไป ภูเขาเอ๋อเหมยซาน ซึ่งพวกเรามักรู้จักและเรียกกันในนามว่า “ง้อไบ๊”
อันเป็นภูเขาที่ แฟนๆ “มังกรหยก” หรือคอกำลังภายในต้องทราบ เพราะเป็น ที่ตั้งของสำนักชีง้อไบ๊  “ง้อไบ๊ ”
เป็นภูเขาที่ได้รับการเล่าขานว่าเป็นภูเขาที่สวยที่สุดในแผ่นดินตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของตำบลเอ๋อเหมย
ในมณฑลเสฉวนประเทศจีน ด้วยลักษณะของภูที่เหมือน   วงคิ้วของสาวงาม ทั้งยังแบ่งได้เป็น 3 สาว คือ พี่ใหญ่ พี่รอง
และน้องเล็ก มียอดสูงที่สุดถึง 3,099 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทั้งยังได้รับฉายาว่าเป็นภูเขาแห่งต้นไม้และสัตว์ป่า
ด้วยต้นไม้กว่า 3,000 ชนิด และสัตว์ป่าอีกมากกว่า 300 ชนิด  เขานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งพุทธศาสนา
และของทางศาสนาเต๋าในประเทศจีน

 แต่สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเฉิงตูไม่มีเพียงเท่านี้ ยังมีอีกมากกมาย ซึ่งถ้าใครมาที่นี้ก็ลองไปเที่ยวกันดูแล้วกัน
ฉันขอแนะนำ บ้านนักกวีตู้ฝู เป็นนักกวีที่มีเชื่อเสียงของจีน วัดเหวินซู เป็นวัดเก่าของเมืองนี้  วัดชิงหยางกง
ที่มีแพะตัวหนึ่งที่มีอวัยวะในตัวมีส่วนประกอบของสัตว์ราศีต่าง 12  ราศี คนจีนเชื่อว่าถ้าใครเจ็บป่วยตรงไหนเอามือ
ไปลูบที่ส่วนนั้นแล้วมาลูบที่ตัวก็จะหาย  ถนนคนเดิน เหวินซู และถนนคนเดินควานจ่าย เป็นถนนสายที่มีสถาปัตยกรรมจีน
ก่อสร้างบ้านเรือนแบบจีนเก่าๆ  จัตุรัสเทียนฝู กลางเมืองและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนสาธารณะใจกลางเมือง
มีรูปของเหมาเจ๋อตุง สีขาวใหญ่มากยืนโบกมือทักทายคนที่ผ่านไปมา   พิพิธภัณฑ์จินชา ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ
และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของจีนไว้   ยังมีสุสานกษัตริย์จีนอีกหลายแห่งที่อยู่ในเมืองนี้ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก
นอกจากสถานที่ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ในเมืองเฉิงตูยังมีสถานที่  อีกมากมายที่ฉันได้ไปเที่ยวแล้ว
ซึ่งหากใครได้มาแล้วจะรู้สึกประทับใจไม่รู้ลืมจริงๆ

ดังนั้น ภาพที่ได้พบเห็นตั้งแต่แรกที่มาถึงเฉิงตู รวมถึงเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคนที่เมืองนี้ 
ทำให้มองเห็นถึงที่มาของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ก่อเกิดในแผ่นดินจีนแห่งนี้ ประชาชนรุ่นลูกรุ่นหลานของจีนไม่เคยทอดทิ้ง
สิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ซึ่ง 'เฉิงตู' เป็นแค่เมืองเดียวในแผ่นดินจีนใหญ่ เท่านั้น แต่ก็มีเรื่องราวมากมายให้จดจำ      

ขอบคุณท่านผู้ใหญ่ใจดี ที่ทำให้ฉันได้มีโอกาสมาท่องแดนมังกรในครั้งนี้  นับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำและประทับใจ  
ขอบคุณคนจีน และคนไทยที่เมืองเฉิงตูที่ดูแลฉัน ในช่วงที่มาอยู่ที่เมืองจีนนี้ อยากบอกว่าอบอุ่นจริง ๆ 
ขอบคุณครูอาจารย์ที่โรงเรียนสงวนหญิง ที่รักและเป็นห่วงลูกศิษย์คนนี้เสมอมา 
ขอบคุณนักเรียนหลาย ๆ คนที่ไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกเหงาเลย เพราะฉันรับรู้ได้ถึงความคิดถึงผ่านโปรแกรม  MSN  

สุดท้าย ขอขอบคุณครอบครัวของฉันที่ทำให้ฉันได้รู้สึกเสมอว่า ทุกคนอยู่เคียงข้างฉันตลอดเวลา 




รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


kruboonsom

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
คณิตศาสตร์